ศูนย์วิเคราะห์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินฉากทัศน์ผลกระทบสงครามการค้า ชี้ไทยโดนเก็บภาษี 10% กระทบจีดีพีเหลือ 2% กรณีเลวร้ายโดนเก็บ 36% ฉุดจีดีพีเหลือต่ำ 0.7% ย้ำระยะยาวไทยเจอ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” คาด 5 ปีข้างหน้ามูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหาย 1.6 ล้านล้านบาท กระทบเอสเอ็มอี 4,990 ราย แนะเร่งรับมือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าและความเสี่ยงที่สูงขึ้น ศูนย์วิจัยประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ออกเป็น 2 สถานการณ์
Scenario 1 (S1) : ไทยถูกเก็บภาษี 10% (Universal Tariff) ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 หลังจากที่มีการเลื่อนการขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน โดยในช่วงครึ่งปีหลังการเจรจากับสหรัฐประสบผลสำเร็จทำให้ภาษีลดเหลือเพียง Universal Tariff ที่ 10% จาก 36% ที่มีการรวม Reciprocal Tariffs ขณะที่ Sectoral Tariff จะถูกเก็บในสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเหล็ก ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ได้รับการยกเว้น
ในสถานการณ์นี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.0% ลดลงจากการประมาณการเดิมที่ 2.7%
Scenario 2 (S2) : ไทยถูกเก็บภาษี 10% (Universal Tariff) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568 และในช่วงครึ่งปีหลังได้รับผลกระทบเต็มรูปแบบจากการขึ้นภาษี Reciprocal Tariffs ที่ 36% นอกจากนี้ Sectoral Tariff จะถูกเก็บในสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเหล็ก ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์จะได้ถูกจัดเก็บตั้งแต่ไตรมาสที่ 3
ในสถานการณ์นี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 0.7% ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งการประเมินสถานการณ์ข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของ กนง. ที่คาดว่าเศรษฐกิจระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 1.75% โดยคาดกรณีผลกระทบปานกลาง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.0% ขณะที่กรณีผลกระทบรุนแรงเศรษฐกิจอาจขยายได้ 1.3%
แม้ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าในครั้งนี้จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (Slow Burn) มากกว่าการเกิดผลกระทบทันที (One Time Shock) เช่น ในกรณีโควิด-19 แต่ยังคงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ GDP ของไทยในปี 2568 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวแรงจนอาจเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) นอกจากผลกระทบเฉพาะหน้าที่สำคัญ อาทิ การส่งออกจากภาระภาษีที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการลงทุนที่จะต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากธุรกิจเลื่อนการลงทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐแล้ว ยังมีผลกระทบระยะถัดไปที่ต้องเตรียมรับมือ ประกอบด้วย
1.แผลเป็นทางเศรษฐกิจ
ผลระยะยาวในรูปแบบของ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ดังที่ไทยเคยประสบในช่วงโควิด-19 ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 4 ปีในการทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤต ในครั้งนี้แม้ว่ารูปแบบของวิกฤตจะแตกต่างกัน แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสูง
โดยเมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ IMF’s WEO เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2568 เทียบกับรอบเมษายน 2568 ที่มีผลกระทบจากสงครามการค้าแล้วนั้น พบว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอาจสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท
สงครามการค้าที่ขยายวง ส่งผลให้ IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จาก 3.3% เหลือ 2.8%
Krungthai COMPASS ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ลงเหลือ 2.0% ในกรณีที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง และอาจลดลงเหลือ 0.7% ในกรณีที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.7%
โดยมีผลกระทบที่ต้องเร่งรับมือ ทั้ง 1.ผลระยะยาวในรูปแบบของ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า มูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท และ 2.ผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ไทยกว่า 4,990 ราย ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีเพิ่มเติมของสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน เหล็ก อะลูมิเนียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า